ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงาน(CELS) ย่อมาจากคำเต็ม the Centre for Education and Labour Studies ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยฝรั่งเศส IRD (Institut de Recherche sur le Développement) เมื่อปี 2002 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมศักยภาพการวิจัยระดับอุดมศึกษา ในด้านการเรียนการสอนรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงานได้รับการส่งเสริมจาก IRD ให้เป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยรุ่นเยาว์ (young research laboratory) ภายใต้ชื่อ JEAI ส่งเสริมการวิจัยด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านแรงงานและสังคม การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพการศึกษา
ผลจากดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาและเชื่อมโยงถึงประเด็นที่กำลังดำเนินการต่อที่น่าสนใจมี ดังนี้
1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเน้นการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกและใช้เทคโนโลยีล้าสมัยและเนื่องจากทักษะการทำงานเกิดจากขณะปฏิบัติงาน การใช้เทคโนโลยีล้าสมัยจึงไม่ได้ช่วยให้มีการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยเหตุนี้การศึกษาของไทยจึงให้ความสนใจกับประเด็นอื่นมากกว่าเน้นความรู้ เช่น มุ่งการเป็นพลเมืองดีและการขัดเกลาความเป็นตัวตนของแต่ละชาติภูมิ (ความเป็นล้านนา อีสานและใต้ ฯลฯ)
2) หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ค่าแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและระดับนโยบายกระตุ้นให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นซึ่งเชื่อมโยงถึงการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น นั่นคือทักษะใหม่ๆ และเทคโนโลยีทันสมัยจะถูกนำมาใช้ในการผลิตแทน แต่เนื่องจากการได้มาซึ่งทักษะเกิดจากการปฏิบัติงานจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้นั้นต้องอาศัยความรู้ที่ดี มีคุณภาพที่เรียนรู้จากสถาบันการศึกษา จากความเชื่อมโยงส่วนนี้เองที่เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตและกระบวนการใหม่
3) ความผิดพลาดของนโยบายทางการศึกษาที่เชื่อว่าทักษะวิชาชีพ(technological skills) เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา ทำให้มีความเชื่อว่าการอาชีวศึกษาต้องจัดให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือคาดว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้จึงได้สุ่มเสี่ยง ละเลยจัดการศึกษาที่เป็นหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษาคือการจัดการเรียนการสอนวิชาความรู้ (cognitive skills)
4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาก็ต้องโดยการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมุ่งให้การศึกษาส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้(knowledge)ให้กับผู้เรียน ให้มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เนื่องจากสังคมวิทยาการศึกษาและระบบการเรียนการสอน(didactic) เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา งานวิจัยที่ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาและแรงงานกำลังดำเนินการจึงมุ่งเน้นในสองมิตินี้ในรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
No comments:
Post a Comment